วิถีชีวิตในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ รวดเร็ว สภาวะโรคติดต่อต่างๆ สภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก มีส่วนไม่น้อยที่ส่งผลต่อความกังวลใจ ความเครียด สุขภาพกาย สุขภาพใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพการนอนทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว
อีกหนึ่งปัจจัยสงเสริมระดับความเครียด ความวิตกกังวล โดยไม่รู้ตัว คือ พฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ทั้งเพื่อความรู้ และความบันเทิง ซึ่งเหล่าบรรดานักสร้างคอนเท้นต์ (content creator) ต่างพยายามปรับคอนเท้นต์ต่างๆให้น่าสนใจ เพื่อดึงดูดความสนใจจากเหล่านักท่องโซเชี่ยล ทำให้เรามองเห็นมาตรฐานความสุขในโลกโซเชี่ยลบ่อยขึ้น จนอาจเกิดการเปรียบเที่ยบระหว่าง “ความสุขในชีวิตจริง” Vs “มาตรฐานความสุขในโลกโซเชี่ยล” จนเกิดเป็นความรู้สึกไม่มีความสุข โดยหลงลืมไปว่าความสุขที่เรากำลังเปรียบเที่ยบนั้น เราใช้ตัวแปรต่างกันในการเปรียบเที่ยบ
พฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุคนี้ ดูเหมือนว่า “ภูมิต้านทานทางความรู้สึก” จะมีส่วนสำคัญที่สามารถช่วยให้เราผ่านพ้นสภาวะความเครียด ความกังวล ความรู้สึกกดดันต่างๆ ไปได้บ้าง อย่างน้อยที่สุดหากเราเกิดความรู้สึก เครียด นอนไม่หลับ ควรรีบจัดการความเครียดนั้นๆ ก่อนที่จะส่งผลกระทบกับการนอนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
แต่หากเราประสบปัญหานอนไม่หลับจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ต้นเหตุ เมื่อไม่สามารถนอนหลับได้จนกระทบกับการใช้ชีวิต วิธีที่จะทำให้หลับได้รวดเร็วที่สุดเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน คือ การทานยานอนหลับ เราจะหลับไปด้วยฤทธิ์ของยาที่กดการทำงานของสมอง เป็นเพียงการทำให้หลับเฉพาะช่วงที่เราทานยาเท่านั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับที่ต้นเหตุ เมื่อไม่ได้ทานยาก็จะไม่สามารถหลับได้ เกิดเป็นภาวะพึ่งพายานอนหลับในที่สุด
สารบัญ
- นอนไม่หลับเกิดจากอะไร
- นอนไม่หลับระยะไหนที่ควรหาหมอ
- ยานอนหลับแบบไหนออกฤทธิ์อย่างไร
- ยานอนหลับและผลข้างเคียงที่ตามมา
- เมื่อจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ ควรทำอย่างไร
1. นอนไม่หลับเกิดจากอะไร
อาการนอนไม่หลับ ( Insomnia ) เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ
- อาการเจ็บป่วยทางกาย
- สภาวะทางจิตใจ
- สภาพแวดล้อมในการนอน
- พฤติกรรมที่ส่งผลต่อการนอน ทำให้การนอนของเราเสียสมดุล
อาการนอนไม่หลับจากสาเหตที่ต่างกัน จะมีความลักษณะการนอนไม่หลับที่ต่างกันอยู่บ้าง เช่น นอนไม่หลับจากความเครียด มักมีลักษณะชัดเจนคือ หลับยากช่วงแรก และ ตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความเครียด เมื่อรู้สึกเครียดนอนไม่หลับควรทำไงดี ? หากเราแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ การนอนก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อมีอาการนอนไม่หลับ จึงควรสำรวจบริบทรอบๆตัวของเราว่า อาการนอนไม่หลับเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วแก้ไขที่ต้นเหตุ
2. นอนไม่หลับระยะไหนที่ควรหาหมอ
นอนไม่หลับ พักผ่อนได้น้อย รู้สึกเหมือนไม่ได้นอน อ่อนเพลียในระหว่างวัน ประสิทธิภาพในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตลดลง ส่งผลกระทบกับร่างกายในหลายๆ ส่วน
หากคุณกำลังอยู่ในภาวะนอนไม่หลับ มากว่า 3 วัน/สัปดาห์ ต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน หรือ อาการนอนไม่หลับนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนหัว ขับรถไม่ได้ กระทบกับการทำงาน ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาอย่างถูกวิธี
3. ยานอนหลับแบบไหนออกฤทธิ์อย่างไร
ก่อนเริ่มทานยานอนหลับควรทำความเข้าใจตัวยาที่เราทานก่อน
และที่สำคัญ ก่อนหยุดทานยานอนหลับ ควรศึกษาวิธีที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน
เมื่อร่างกายพักผ่อนได้น้อย และ ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต วิธีที่เร็วที่สุดในการส่งเสริมการนอน เพื่อให้ร่างกายหลับพักผ่อนได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ คือ การใช้ยานอนหลับ ซึ่งแน่นอนว่ายานอนหลับย่อมมีผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประส่งค์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยาที่นำมาใช้เพื่อส่งเสริมการนอนหลับนั้นมีหลายกลุ่ม เช่น
กลุ่ม Benzodiazepine (BZD)
• มีทั้งแบบ ออกฤทธิ์สั้น และ ออกฤทธิ์ยาว
• ตัวอย่างชื่อยา Diazepam Clonazepam Lorazepam Alprazolam
• ใช้ยาเป็นเวลานานอาจดื้อยา/หยุดทานทันทีมีอาการ “ถอนยา”
กลุ่ม Z-drugs
• ยาออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที/มีฤทธิ์อยู่ราวๆ 8 ชม.
• ตัวอย่างชื่อยา โซลพิเดม (Zolpidem) โซพิโคลน (Zopiclone)
• อาการดื้อยาและถอนยา น้อยกว่ากลุ่มแรก
กลุ่มยาต้านเศร้าบางตัว
• ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นการทำงานของเคมีในสมองเซโรโทนิน (Serotonin) ให้มีความสมดุล
• ตัวอย่างชื่อยา ทราโซโดน (Trazodone)
ยา Melatonin สังเคราะห์
เมลาโทนิน (Melatonin) คือ ฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นภายในสมองเมื่อไม่มีแสงหรือแสงสว่างน้อย โดยฮอร์โมนเมลาโทนินจะถูกหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดในช่วงเวลากลางคืนซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกง่วง ปัจจัยที่ขัดขวางการหลั่งเมลาโทนิน คือ แสงสว่าง เช่น แสงจากไฟในห้อง แสงจากหน้าจอต่างๆ มือถือ แทปเลต คอม เมื่อแสงสว่างเหล่านี้ขัดขวางกันหลั่งเมลาโทนิน ร่างกายจึงไม่รู้สึกง่วง เราสามารถทานเมลาโทนินสังเคราะห์เพิ่มเข้าไปได้ หรือ เพียงแค่ปรับพฤติกรรมการใช้หน้าจอต่างๆก่อนนอน ร่างกายก็จะสามารถหลั่งเมลาโทนินได้เองซึ่งเป็นเมลาโทนินธรรมชาติ ไม่ต้องทานเมลาโทนินสังเคราะห์เพิ่ม
เมลาโทนิน สังเคราะห์ จัดว่าเป็นยานอนหลับที่มีผลข้างเคียงน้อยที่สุดในกลุ่มยานอนหลับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเป็นยานอนหลับตัวเดียวที่สามารถหาซื้อได้ด้วยตัวเอง
ยานอนหลับในกลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้น มักเป็นยานอนหลับที่ออกฤทธิ์ได้เร็วและมีฤทธิ์แรง ส่วนยานอนหลับในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยาว มักเริ่มต้นออกฤทธิ์ช้าและมีฤทธิ์แรงน้อยกว่า
ยานอนหลับในปัจจุบันมีหลายชนิด ในแต่ละกลุ่มยาออกฤทธิ์แตกต่างกัน ผลข้างเคียงแตกต่างกัน อาการดื้อยา อาการถอนยา และผลข้างเคียงจากการทานยาแตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ยานอนหลับ ไม่ควรทานยาของเพื่อน หรือ แบ่งยาจากคนใกล้ชิดมาทาน เพราะตัวยาแต่ละชนิดนั้น active กับร่างกายของแต่ละคนที่แตกต่างกัน สภาวะร่างกายต่างกัน หรือมีโรคประจำตัวแตกต่างกัน จึงควรศึกษาคุณสมบัติของยานอนหลับที่เราทานอย่างละเอียดและปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
4. ยานอนหลับและผลข้างเคียงที่ตามมา
ยานอนหลับเป็นวิธีส่งเสริมการหลับได้เร็วที่สุด ออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองทำให้หลับ ซึ่งการหลับด้วยฤทธิ์ของยานอนหลับนั้นย่อมมีผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์จากการทานยานอนหลับทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว เช่น
• ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น มึนงง เบลอ เวียนหัวหลังตื่นนอน
• ง่วงซึมระหว่างวัน ไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร
• มีอาการปวดหัว หรือ มึนหัว ระหว่างวัน
• สมองไม่ปลอดโปร่ง
• หงุดหงิดง่าย สภาวะอารมณ์ไม่คงที่
• สมาธิลดลง
• ความจำแย่ลง มีอาการหลงๆลืมๆ
• เดินเซ หรือทรงตัวได้ไม่ดี
• ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง
• เกิดอาการดื้อยา เมื่อทานยานอนหลับต่อเนื่องเป็นเวลานาน ร่างกายจะตอบสนองกับยาในปริมาณเดิมได้น้อยลง ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณยา จึงจะหลับได้เท่าเดิม
เกิดอาการ “ถอนยา” เมื่อหยุดทานยากะทันหัน ดังนั้นเมื่อเริ่มทานยานอนหลับต่อเนื่องเกิน 10 วัน ไม่ควรหยุดยาทันที จำเป็นต้องค่อยๆลดปริมาณลงตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อความปลอดภัยก่อนหยุดทานยานอนหลับ
5. เมื่อจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ ควรทำอย่างไร
ยานอนหลับ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับ เป็นพียงแค่ตัวช่วยที่ทำให้เราหลับได้ในขณะที่ทานยาเท่านั้น โดยออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง ทำให้เราหลับไปด้วยฤทธิ์ยา แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากเราหวังพึ่งยานอนหลับเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุ ยานอนหลับจะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ถ้าไม่ทานก็จะไม่หลับ และเมื่อทานยาต่อเนื่องระยะยาว แม้จะทานยาในปริมาณเดิมก็ยังคงนอนไม่หลับ เกิดอาการดื้อยา และแน่นอนว่ายานอนหลับมีผลข้างเคียงอื่นๆ ที่ตามมา
ในขณะที่เราจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ สิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วย คือ หาสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ว่าอาการนอนไม่หลับของเรานั้นเกิดจากอะไร ? เมื่อรู้สาเหตุแล้วเริ่มลงมือแก้ไขสาเหตุเหล่านั้น เช่น
- นอนไม่หลับจากความเครียด เราควรดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเกิดความเครียด
- นอนไม่หลับจากกรดไหลย้อน ควรรักษาอาการกรดไหลย้อนอย่างจริงจัง
- นอนไม่หลับเพราะสภาพแวดล้อมในการนอน เช่น ไฟสว่างไป เสียงดังรบกวน
- นอนไม่หลับจากพฤติกรรมการนอน เช่น ติดหน้าจอต่างๆ มือถือ แทปเลต คอม ในช่วงเวลาก่อนนอน แสงเหล่านี้ขัดขวางการหลังเมลาโทนินของร่างกาย ทำให้ไม่รู้สึกง่วงมักมีปัญหาหลับยากในช่วงเริ่มนอน
พยายามแก้ไขปัญหาการนอนไม่หลับจากสาเหตุ ทำสิ่งเหล่านี้ควบคู่ไปกับการใช้ยานอนหลับ จะช่วยให้หลับได้ดีขึ้นและส่งผลดีกับสมดุลการนอนในระยะยาว เช่น
- ปรับพฤติกรรมการนอน
- ปรับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียด
- รักษาอาการเจ็บป่วยให้ดีขึ้น
- จัดห้องนอนใหม่ให้มีลักษณะที่จะส่งเสริมการนอน
การใช้ยานอนหลับ หากใช้อย่างถูกวิธี ก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรืออันตรายจนถึงขั้นที่ต้องวิตกกังวล แต่ควรใช้ในระยะสั้นๆเท่านั้น ใช้ร่วมกับการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ หากละเลยการแก้ปัญหาจนต้องพึงพายานอนหลับต่อเนื่องนานๆ แน่นอนว่า ยานอนหลับย่อมมีผลข้างเคียงและผลกระทบกับร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท สมอง และ ความจำ
อาการ “ดื้อยา” เป็นอย่างไร ?
การหยุดยานอนหลับ ไม่ควร “หักดิบ” เพราะอะไร ?
หลังจากที่แก้ปัญหาแล้ว และ กลับมาหลับได้ดีขึ้น ก็ถึงขั้นตอนของการหยุดทานยานอนหลับ ทั้งการเริ่มทานยา และ การหยุดทานยา จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างถูกต้อง ไม่ควรหยุดทานยานอนหลับกะทันหัน จำเป็นต้องค่อยๆลดปริมาณยาลงครั้งละ 1 ระดับอย่างเหมาะสม และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการหยุดทานยานอนหลับทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ
– ปรึกษาวิธีหยุดทานยานอนหลับอย่างปลอดภัย –
ฟื้นฟูกลไกการนอนทั้งระบบ อย่างตรงจุด
เริ่มหลับได้ดีขึ้นในปริมาณยาเท่าเดิม คือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเริ่มกระบวนการลดปริมาณยานอนหลับลง (ถอยยา) ในระดับที่ 1
สรุป
การใช้ยานอนหลับ หากใช้อย่างถูกวิธี ก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรืออันตรายจนถึงขั้นที่ต้องวิตกกังวล ยานอนหลับมีผลข้างเคียงและผลกระทบกับร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท สมอง และ ความจำ หากจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ ต้องไม่ลืมว่าการทานยานอนหลับเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพื่อช่วยให้เรานอนหลับพักผ่อนและออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่ไปด้วย คือ แก้ไขปัญหานอนไม่หลับที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง
เพื่อลดระยะเวลาในการทานยานอนหลับให้สั้นที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ นั่นหมายถึงเรากำลังพยายามลดผลข้างเคียงจากการทานยานอนหลับให้น้อยลงด้วย ไม่ละเลยและไม่ละความพยายามที่จะกลับมาหลับได้เองอีกครั้งอย่างถูกวิธีและปลอดภัย
ไม่ควรใช้ยานอนหลับต่อเนื่องระยะยาว เนื่องจากยานอนหลับกดการทำงานของสมองทำให้หลับ ซึ่งยานอนหลับมีผลข้างเคียงกับร่างกายดังที่กล่าวไป โดยเฉพาะระบบประสาท สมอง และ ความจำ แต่ไม่ควรหยุดทานยานอนหลับในทันที จำเป็นต้องฟื้นฟูกลไกการนอนตามธรรมชาติควบคู่กันไปกับการค่อยๆลดปริมาณยานอนหลับลงอย่างเหมาะสม
ดังนั้นทั้งการเริ่มต้นใช้ยานอนหลับ และ การหยุดทานยานอนหลับ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อลดผลข้างเคียงจากการทานยานอนหลับ และ ความเสี่ยงกับภาวะ “ถอนยา” รู้ก่อนเริ่มใช้ ปลอดภัยก่อนหยุดทาน