ลำไส้แปรปรวน อีกหนึ่งสาเหตุของการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิทตื่นบ่อย ที่หลายคนไม่เคยทราบว่ามีความเกี่ยวข้องกัน คือ ระบบย่อยขาดความสมดุล เช่น เครียดลงกระเพาะ ลำไส้แปรปรวน โดยเฉพาะความไม่สมดุลในลำไส้มีผลกับการนอนอย่างมาก เพราะ ลำไส้เป็นสมองที่สองของร่างกาย เมื่อลำไส้ไม่สามารถหลับได้ สมองก็ไม่หลับเช่นกัน เพราะอะไร ?
สารบัญ
- หน้าที่ของลำไส้
- ลำไส้เชื่อมโยงกับสมองอย่างไร
- จุลินทรีย์ในลำไส้สำคัญอย่างไร
- ลำไส้สัมพันธ์กับสภาวะอารมณ์
- ภาวะลำไส้แปรปรวน
- การปรับสมดุลลำไส้
1. หน้าที่ของลำไส้
ลำไส้ทำหน้าที่ 2 ส่วนหลักๆ คือ ในการดูดซึมสารอาหาร และ กำจัดของเสีย ต่างๆ ดังนั้นเมื่อลำไส้เราสุขภาพดี จะดูดซึมสารอาหาร วิตามิน แร่ธาติต่างๆได้ดี รวมถึงกำจัดของเสีย สารพิษเจือปนต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สุขภาพของอวัยวะต่างๆในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น สุขภาพ อารมณ์ ผิวพรรณ ระบบเผาผลาญ ระบบย่อย การนอน
ในทางกลับกัน ถ้าลำไส้ของเรากำจัดสารพิษต่างๆออกได้ไม่ดี ทำให้เกิดการปนเปื่อนสารพิษต่างๆเข้าสู่กระแสเลือด หากเกิดการสะสมต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปรกตต่างๆเช่น ร่างกายอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ปวดหัวไมเกรน เป็นมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคอ้วน โรคเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้นในเด็ก นอนไม่หลับ โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง
เมื่ออาหารหลายชนิด เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน เข้าสู่ลำไส้พร้อมกัน ลำไส้จะคัดแยกสารอาหารอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะย่อยและดูดซึมสารอาหารส่งไปยังอวัยวะต่างๆ ในขณะเดียวกันหากมีสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกายเข้าสู่ลำไส้ ลำไส้ก็จะส่งข้อมูลไปยังระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดอาการท้องเสียเพื่อขับพิษออกจากร่างกาย
ลำไส้ต่างไปจากอวัยวะอื่นในร่างกาย คือสามารถทำงานได้เอง ตัดสินใจเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้สมองสั่งการ ซึ่งการคัดแยกและตอบสนองอย่างรวดเร็วแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าลำไส้สามารถตัดสินและวิเคราะห์สถานการณ์ได้เองโดยไม่ต้องผ่านสมอง จากนั้นจึงสั่งการไปยังอวัยวะที่เกี่ยวข้องหรือระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
2. ลำไส้เชื่อมโยงกับสมองอย่างไร
ในลำไส้มีสารเซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดเดียวกันกับในสมองโดยมีอยู่มากถึง 95% ของปริมาณเซโรโทนินทั้งหมดในร่างกาย นั่นคือเหตุผลที่ลำไส้ได้ฉายาว่าเป็น “สมองที่สอง” ของมนุษย์ ดังนั้นความผิดปรกติในลำไส้และสมองจึงมีความเชื่อมโยงถึงกันได้ เช่น บางวันที่เราทานมื้อดึก จะรู้สึกว่าหลับยาก เพราะกระเพาะยังต้องย่อย ลำไส้ยังคงดูดซึม ทั้งที่เป็นเวลานอน สมองควรอยู่ในภาวะหลับ อวัยวะในร่างกายควรได้รับการซ่อมแซม แต่ยังคงมีภารกิจในการย่อยและดูดซึม สมองจึงจำเป็นต้องอยู่ในภาวะที่ทำงานอยู่ เนื่องจากกระเพาะและลำไส้ยังคงต้องทำงาน เป็นอีกสาเหตุนึงที่ทำให้หลับยาก หลับไม่สนิท
หรือในกรณีที่เกิดความเครียด วิตกกังวลต่อเนื่อง มักเกิดอาการเกี่ยวกับระบบย่อย เช่น เครียดลงกระเพาะ ลำไส้แปรปรวน ส่งผลกับการนอนของเราด้วยเช่นกัน
ลำไส้ คือ สมองที่สองของร่างกาย ลำไส้ดี สุขภาพดี หลับดี หากมีปัญหานอนไม่หลับ อย่าละเลยการดูแลสุขภาพของลำไส้
3. จุลินทรีย์ในลำไส้สำคัญอย่างไร
จำนวนจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้ สุขภาพลำไส้ที่ดีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ประมาณ 70% ของเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกายของเราอาศัยอยู่ในลำไส้ ดังนั้นลำไส้จึงมีความสำคัญในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อต่อสู้กับโรคต่างๆ การมีปัญหากระเพาะและลำไส้เรื้อรัง ทำให้มีโอกาสป่วยได้ง่าย
การดูแลลำไส้ให้สมดุลอยู่เสมอ ทานอาหารที่หลากหลายครบหมู่ จะส่งผลดีกับจุลินทรีย์ในลำไส้ เพราะจุลินทรีย์ในลำไส้นั้นมีมากมายนับล้านล้านตัว ซึ่งแต่ละกลุ่มกินอาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้น การกินอาหารที่หลากหลาย จึงช่วยทำให้สุขภาพลำไส้ดีขึ้น และทำให้สุขภาพทั่วไปดีขึ้นไปด้วย คนที่กินอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ ก็จะทำให้กลุ่มจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่หลากหลายและไม่แข็งแรง สุขภาพจึงมักมีปัญหาในระยะยาว
4. ลำไส้สัมพันธ์กับสภาวะอารมณ์
อาการลำไส้แปรปรวนนอกจากจะส่งผลกับสภาวะอารมณ์แล้ว ยังมีผลกับคุณภาพการนอนอีกด้วย
เซโรโทนิน เป็นสารสื่อประสาททางเคมี ที่ส่งผลต่อการทำงานหลายอย่างของร่างกาย รวมถึง การเคลื่อนไหวของลำไส้และยังมีความเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจอีกด้วย ซึ่ง 80-90% ของสารเซโรโทนิน (serotonin) ทั้งหมดในร่างกาย เกิดขึ้นที่บริเวณทางเดินอาหาร
ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สารเซโรโทนินลดระดับลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสภาวะอารมณ์ของเราได้ ระดับความเครียด ความกังวล อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงภาวะซึมเศร้า
นอกจากนี้เซโรโทนิน ยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเมลาโทนินของร่างกาย ซึ่งหากร่างกายสามารถผลิตเมลาโทนินได้ในปริมาณที่เพียงพอ และตัวเราเองควบคุมแสงสว่างต่างๆได้ดีในช่วงเตรียมตัวนอน เช่น
- งดใช้จอต่างๆ (จอมือถือ จอคอม ทีวี ) ในช่วงก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชม.
- ปิดไฟใฟ้มืดก่อนนอน
- พยายามเข้านอน และ ตื่นนอนให้เป็นเวลา
จะช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น หลับสนิท กลไกการนอนตามธรรมชาติของเราจะเป็นไปตามปรกติของร่างกาย สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องการนอน อย่าลืมดูแลสมดุลลำไส้ควบคู่ไปด้วย
รักษาสมดุลลำไส้ + ทานอาหารที่มีสารตั้งต้นในการสร้างเมลาโทนิน + ควบคุมแสงสว่างก่อนนอน = หลับดี พักผ่อนได้ดี
5. ภาวะลำไส้แปรปรวน
นอกจากสภาวะร่างกายแล้ว สภาวะจิตใจและความเครียด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวน หรือ ไอบีเอส (IBS) เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย ได้แก่ ปลายลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ที่มีการบีบตัวมากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูกหรือท้องเสีย เป็นต้น
สังเกตอาการลำไส้แปรปรวน
• ปวดท้อง อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วง 3 เดือน
• ท้องผูก และ/หรือ ท้องเสีย
• ท้องอืด แน่นท้อง
• ปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือใต้สะดือ
• มีลมในท้อง
• อาการปวดหายไปหลังขับถ่าย
สาเหตุของภาวะลำไส้แปรปรวน
พบว่ามีหลายปัจจัยร่วมกันที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น
• การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ
• การรับรู้ของระบบทางเดินอาหารที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ
• ปัญหาในการย่อยอาหาร
• การติดเชื้อในทางเดินอาหาร
• ความเครียด ปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์
• กรรมพันธุ์ โดยพบว่า ในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ได้ 2 – 3 เท่า
โรคลำไส้แปรปรวนไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังและมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นอีก หากผู้ป่วยยังคงไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
6. การปรับสมดุลลำไส้
- ทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร ไม่ควรเร่งรีบรับประทาน
- กินอาหารที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มจุลินทรีย์ในลำไส้
- จัดการกับความเครียด เช่น การทำสมาธิ การพักผ่อน การฝึกจิต โยคะ ฟัง/ร้องเพลง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พยายามทานโปรตีนที่ดีและย่อยง่ายอย่างสม่ำเสมอ เช่น ไข่ขาว โปรตีนจากพืช เป็นประจำ
- ทานโยเกิร์ตเพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์เพิ่มเติม สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
- หลังจากอาการป่วย ท้องเสีย หรือ อื่นๆ ที่จำเป็นต้องทานยาปฎิชีวนะ ควรทานโปรไบโอติกเพิ่มเติมในช่วงสั้นๆ เช่น 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้
- พยายามเข้านอนให้เป็นเวลา ไม่ควรนอนหลัง 5 ทุ่ม ซึ่งเป็นการรบกวนวงจรของจุลินทรีย์ในลำไส้
- หากมีปัญหาลำไส้อยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม และอาหารรสเผ็ด มื้อเย็นไม่ควรทานอาหารย่อยยาก นอกจากทานยาตามอาการแล้ว เสริมด้วยโปรตีนจากไข่ขาวและโปรไบโอติกในระยะสั้นๆ
ปรับสมดุลลำไส้ และ ฟื้นฟูกลไกการนอนทั้งระบบ
ปรึกษาใกล้ชิด
สรุป
ลำไส้ต่างไปจากอวัยวะอื่นในร่างกาย คือสามารถดูดซึมสารอาการแต่ละชนิดและคัดแยกส่งไปยังส่วนต่างๆของร่างกายได้เอง ตัดสินใจเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้สมองสั่งการ ในลำไส้มีสารเซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดเดียวกันกับในสมองโดยมีอยู่มากถึง 95% ของปริมาณเซโรโทนินทั้งหมดในร่างกาย นั่นคือเหตุผลที่ลำไส้ได้ฉายาว่าเป็น “สมองที่สอง” ของมนุษย์ สมองและลำไส้ มีความเชื่อมโยงและสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยมีสารสื่อประสาทเซโรโทนิน(serotonin) เป็นตัวสำคัญ ดังนั้นการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นเรื่องสำคัญซึ่งส่งผลโดยตรงกับภูมิคุ้มกันในร่างกาย สภาวะอารมณ์ และ การนอน