โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุคืออาการที่เกิดขึ้นในสมองซึ่งมีผลต่อความจำ ความคิด การใช้เหตุผล การใช้ภาษา และการรับรู้สิ่งแวดล้อม โดยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการตัดสินใจ พฤติกรรม และอารมณ์ผิดปกติ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และอาจทำให้ต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือ ดังนั้น ควรระวังการป้องกันและรักษาโรคสมองเสื่อมในผู้สุงอายุอย่างเคร่งครัด
สารบัญ
- สาเหตุของโรคสมองเสื่อม
- อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดในผู้ป่วยสมองเสื่อม
- อาการสมองเสื่อม 3 ระยะ
- วิธีดูแลและป้องกันภาวะสมองเสื่อม
- การรักษาโรคสมองเสื่อม
- สรุป
จากสถิติพบว่าโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการเกิดโรค ประมาณ 5 คนต่อ 100 คน และเมื่ออายุเพิ่มขึ้น อัตราการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น คนอายุ 80 ปี จะพบโรคสมองเสื่อมได้ถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 คน
สาเหตุของโรคสมองเสื่อม
1.โรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมของสมองโดยตรงเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด การเสื่อมของสมองจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสมองด้านที่เกี่ยวข้องกับการจดจำจะเสื่อมลงก่อนแล้วจึงตามมาด้วยส่วนอื่น ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลงลืม บกพร่องในการพูดสื่อสาร และอาจเกิดปัญหาพฤติกรรมตามมา การตรวจพบโรคโดยเร็ว จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงของโรคในอนาคต ดังนั้นหากมีอาการหลงลืมบ่อยๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสอบและรักษาโรคให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการของผู้สูงอายุในครอบครัวเป็นพิเศษ เพราะผู้ป่วยอาจจำไม่ได้ว่าตนเองเคยลืมอะไร และมักคิดว่าตนเองเป็นปกติดี
2. โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองผิดปกติ (หรือ vascular neurocognitive disorder) เป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เส้นเลือดเล็ก ๆ ในสมองแตกหรือตีบตัน ทำให้ส่วนของสมองนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้เกิดผลกระทบต่อความคิด ความจำ และการรับรู้
สาเหตุของโรคสมองเสื่อมไม่ได้เกิดจากเพียงสองประเภทที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น ยังมีสาเหตุอื่นที่สามารถรักษาได้ เช่น
- การสูบบุหรี่
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคซึมเศร้า
- พฤติกรรมการกินไม่ดี
- ติดสุราเรื้อรัง และการใช้สารเสพติด
- สมองเสื่อมจากวัยชรา มักพบในคนสูงอายุวัย 65-70 ปีขึ้นไป
- เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ มักเกิดจากหลอดเลือดเส้นเล็กๆ อุดตันซ้ำๆ มานาน ทำให้เซลสมองตาย และการทำงานของสมองโดยรวมเสื่อมลง
- ภาวะเลือดคั่งในสมองหรือเนื้องอกในสมอง
- ภาวะขาดวิตามินบี 12 มักพบในคนที่ได้รับการผ่าตัด กระเพาะลำไส้มานานๆ และขาดอาหาร
- ติดเชื้อที่มีผลทางสมอง เช่น ซิฟิลิส ไวรัสสมองอักเสบ ไวรัสเอดส์ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
- ภาวะที่เกิดตามหลังการขาดออกซิเจน เช่น มีอาการชักซ้ำติดต่อกันนานๆ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นเวลานานๆ
อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดในผู้ป่วยสมองเสื่อม
- เกิดข้อบกพร่องในการรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่สามารถจดจำคำพูดระหว่างการสนทนาได้อย่างถูกต้อง
- มีความผิดพลาดในการใช้ภาษาทั้งในการพูดและเขียน ระบุชื่อของไม่ได้อย่างถูกต้อง พูดไม่เป็นประโยคหรือขาดความต่อเนื่อง
- มีความผิดพลาดในการทำกิจวัตรและกิจกรรมประจำวัน ไม่สามารถทำกิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำได้ และเป็นเหมือนเด็กๆที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- มีพฤติกรรม บุคลิกภาพ และอารมณ์ที่ผิดปกติ เช่น การกลายเป็นคนเฉยเมย โมโหฉุนเฉียวง่าย หรือทำอะไรซ้ำซาก
- มีอาการนอนไม่หลับ และบางครั้งอาจมีอาการทางจิตเศร้าหรือวิตกกังวล
อาการสมองเสื่อม 3 ระยะ
ระยะแรก (Early-Stage) คนใกล้ชิดยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้
โรคสมองเสื่อมประเภทอัลไซเมอร์ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ทันที แต่อาจมีอาการลืมในเรื่องใหม่ๆ หรือที่พึงทำหรือพูดไปเพิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ อาจทำซ้ำสิ่งที่พูดหรือทำไปแล้ว และอาจเริ่มเรียกชื่อสิ่งของไม่ถูกต้อง อาจสับสนทิศทาง ลืมทางหรือเดินไปทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะทางที่ไม่คุ้นเคย แต่ผู้ป่วยยังจำได้ดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ระยะที่สอง (Middle-Stage) คนใกล้ชิดเริ่มสังเกตเห็นได้
ผู้ป่วยอาจมีความบกพร่องในการดูแลตัวเอง เช่น ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ไม่ทราบว่าควรทำอะไร ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ได้ หรือไม่หวีผม เป็นต้น และอาจสูญเสียความทรงจำใหม่ ไม่รู้ว่ากินข้าวหรือกินยาไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีอารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด เกลียดการเข้าสังคม และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการใช้ภาษาผิดพลาดมากขึ้น และมีการเห็นภาพหลอนได้ด้วย
ระยะที่สาม (Late-Stage)
ผู้ป่วยหลายท่านไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากมีความบกพร่องทางกายและจิตใจ การทำกิจกรรมประจำวัน เช่น การติดกระดุมเสื้อ อาบน้ำ หวีผม และแปรงฟันทำได้ยาก อารมณ์แปรปรวน การเคลื่อนไหวร่างกายลดลงหรือมักนอนติดเตียง ความจำลดลงและมีความเฉยเมย ขว้างปาสิ่งของ กินอาหารเลอะเทอะ อาจมีพฤติกรรมและอารมณ์รุนแรง จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลให้การช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น
วิธีดูแลและป้องกันภาวะสมองเสื่อม
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เพื่อให้การนอนของเรามีคุณภาพมากขึ้น ควรสำรวจสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้มีความเหมาะสมกับการนอนหลับพักผ่อน หากนอนไม่ค่อยหลับ หรือ ตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อได้ยาก หมั่นสำรวจและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้มีความเหมาะสม
2. เล่นเกม ฝึกสมอง ศึกษาเรียนรู้ไม่หยุด
อย่าให้สมองหยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะสมองยิ่งใช้ ยิ่งฉลาด ยิ่งแข็งแรง การหมั่นศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรู้วิชาการ หรือแม้แต่การใช้สมองเพื่อเล่นเกม ก็นับเป็นการฝึกสมองอยู่ตลอดเวลา เป็นการช่วยลดความเสี่ยงโรคสมอ เสื่อมอัลไซเมอร์ได้ ตลอดเวลา เป็นการช่วยลดความเสี่ยงโรคสมอ เสื่อมอัลไซเมอร์ได้
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติ
ไน้ำหนักตัวที่ผิดปกติมีผลต่อการเป็นอัลไซเมอร์ ดังนั้น เราควรรักษาน้ำหนักตัวให้ได้มาตรฐาน คือมีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนลงพุงหรือผอมเป็นหนังหุ้มกระดูก
4. ดูแลสุขภาพหู อยู่เป็นประจำ
การได้ยินไม่ชัดเจน จนทำให้การรับรู้เสียงต่างๆ แย่ลง สมองที่ทำหน้าที่แปลงเสียงเป็นความหมายก็จะค่อยๆ ถูกปิดกั้นไปด้วย ซึ่งถือเป็นการกระทบต่อการพัฒนาสมองส่วนอื่นๆ เป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้โดยไม่รู้ตัว
5. รักษาความดันโลหิตให้เป็นปกติ
สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง พยายามควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากจะเป็นผลดีช่วยลดความเสี่ยงในทุกๆ โรคแล้ว ยังลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้ด้วย นอกจากนี้ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนดึก เลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และดูแลสุขภาพการกินร่วมด้วย
6. เบาหวาน ต้นเหตุอีกหลายโรค
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเลย เพราะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะส่งผลให้เป็นโรคอื่นๆ ได้อีกหลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดตีบ โรคหัวใจ รวมถึงอัลไซเมอร์ด้วย ดังนั้น ควรพบแพทย์เป็นประจำ กินยาตามคำแนะนำ และควบคุมการกินให้ดีเพื่อสุขภาพโดยรวม
7. หาเวลาพักท่องเที่ยว
การเดินทางพักร้อน จะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง นอกจากจะช่วยลดเสี่ยงโรคซึมเศร้าแล้ว ยังช่วยลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย และหากใครที่กำลังมีปัญหาชีวิต ควรรีบไปปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และใช้ชีวิตให้มีความสุขขึ้นให้ได้
8. ออกกำลังกายแบบ “คาร์ดิโอ”
เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ช่วยให้เลือดสูบฉีด สมองแจ่มใส ควรทำให้ได้อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หากสามารถเวทเทรนนิ่งไปด้วยได้ จะส่งผลดีกับกล้ามเนื้อ เพราะการมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะทำให้ออกกำลังกายได้ดีขึ้นด้วย
9. ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่เก็บตัว
การทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เป็นวิธีที่ดีในการกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น เราสามารถเลือกทำกิจกรรมที่ชอบได้ เช่น เต้นรำ, งานประดิษฐ์, การเป็นอาสาสมัคร, การเข้าร่วมชมรมร้องเพลง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความบันเทิง และทำให้ผ่อนคลาย ไปท่องเที่ยว หรือการเลี้ยงหลานเล็กๆ ก็สามารถช่วยให้สมองมีชีวิตชีวา สดชื่นแจ่มใสได้
การรักษาโรคสมองเสื่อม
การรักษาโรคเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาสาเหตุและการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เนื่องจากการรักษาโรคให้หายเช่นเดิมอาจยากหรือไม่เป็นไปตามปกติ บางครั้งแพทย์อาจให้ยาเพื่อบำรุงสมองเพื่อชะลอความรุนแรงของโรคลง โดยทั่วไปแล้วการป้องกันโรคจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากไม่สามารถหยุดยั้งการเสื่อมสภาพของร่างกายได้ แต่สามารถดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม เช่น ควบคุมความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงสารเสพติด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น หยุดการเล่นเกม ลดการนั่งโดยไม่มีการออกกำลังกาย เพิ่มการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และ รักษาสุขภาพจิตใจ ความรักความอบอุ่นในครอบครัว หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด
สรุป
เห็นได้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราเริ่มสังเกตเห็นนั้นไม่ใช่เพียงแค่ลืมเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ด้านของพฤติกรรม ได้แก่ ด้านความจำ, ด้านความคิด, ด้านคำพูด, และด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ ดังนั้น หากมีผู้ใกล้ชิดในบ้าน ควรให้ความสนใจและสังเกตอาการของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด เพื่อระวังอาการที่อาจเกิดขึ้น และหากพบอาการต้องพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อชะลอการลุกลามของโรค ซึ่งโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นฉับพลัน ดังนั้นการรักษาที่เหมาะสมต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยาวนาน